วันจันทร์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ประวัติความเป็นมา

ประวัติความเป็นมา


จังงหวัดเลยนั้นเป็นจังหวัดที่มีแนวเขตติดต่อกับสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
โดยมี "น้ำเหือง" และ "แม่น้ำโขง" เป็นเขตแนวธรรมชาติกั้นพรมแดน
พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อนและมีที่ราบสูง เมื่อ พ.ศ.๒๓๙๖ รัชกาลที่ ๔
โปรดเกล้าให้ "พระยาท้ายน้ำ" ได้ออกสำรวจเขตแขวงต่างๆ เพื่อตั้งให้เป็นเมือง
ได้พบชุมชนหนาแน่นที่ "หมู่บ้านแฮ่" ซึ่งตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำหมาน และอยู่ใกล้กับน้ำเลย
มีภูมิประเทศเหมาะสม พลเมืองหนาแน่น พอที่จะตั้งเป็นเมืองได้ รัชกาลที่ ๔ จึงโปรดเกล้าฯ
ให้จัดตั้งเป็นเมือง โดยตั้งชื่อตามลำน้ำว่า "เมืองเลย"  ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้มีการ
จัดการปกครองแบบใหม่ เรียกว่า "การปกครองแบบเทศาภิบาล" แบ่งเป็นมณฑล
เมือง ตำบล หมู่บ้าน  เมืองเลยจึงเป็นเมืองหนึ่งซึ่งอยู่ในเขตปกครองของมณฑล
ลาวพวน ซึ่งต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น "มณฑลอุดร" ครั้งแรกมี ๓ อำเภอ คือ อำเภอ
ท่าลี่ อำเภอนากอก และอำเภอกุดป่อง ซึ่งเป็นที่ตั้งของตัวเมือง (อำเภอเมืองเลยในปัจจุบัน)
ปี พ.ศ. ๒๔๔๒- ๒๔๔๙ ได้เปลี่ยนชื่อเมืองเลยใหม่เป็น "บริเวณลำน้ำเลย"
และในปี ๒๔๔๙- ๒๔๕๐ ได้เปลี่ยนชื่อใหม่อีกครั้งเป็น "บริเวณลำน้ำเหือง"
ต่อมาวันที่ ๔ มกราคม ๒๔๕๐ ให้ยกเลิกชื่อ "บริเวณลำน้ำเหือง" ให้คงชื่อไว้เฉพาะคำว่า "เมืองเลย" ขณะเดียวกันก็ให้เปลี่ยนชื่อ "อำเภอกุดป่อง" เป็น "อำเภอเมืองเลย" ปัจจุบันจึงถือว่า วันที่ ๔ มกราคม ๒๔๕๐ เป็นวันสถาปนา
จังหวัดเลยในช่วงฤดูหนาวของจังหวัดเลยนั้น ในอดีตอากาศจะหนาวจัดและ
ต่อเนื่องยาวนานหลายเดือน คือประมาณเดือนตุลาคมถึงมีนาคม อำเภอภูเรือ จังหวัดเลย
เคยอากาศหนาวที่สุดในประเทศมาแล้ว จังหวัดเลยจึงมีคำขวัญประจำจังหวัดว่า
"เมืองแห่งทะเลภูเขา สุดหนาวในสยาม” เมื่ออากาศหนาวเหน็บเช่นนี้ ผู้คนจึงทำ
ผ้าห่มสำหรับห่มกันหนาวกัน ซึ่งวัตถุดิบที่ใช้หลักๆ ก็คือฝ้ายครับ โดยจะใช้ยัดเป็น
ไส้ในผ้าห่ม ส่วนผืนผ้านั้นก็จะทอขึ้นจากฝ้ายครับ ผ้าห่มชนิดนี้ชาวเลยจะทำกัน
ทั่วไป ปัจจุบันนี้ก็ยังพอหาซื้อได้อยู่ที่อำเภอเชียงคานครับ ฝ้ายนี้ชาวบ้านก็จะปลูก
เองครับ และนิยมปลูกกันอย่างแพร่หลาย จนถึงขนาดมีโรงหีบฝ้ายตั้งขึ้นหลาย
แห่งเพื่อรับซื้อฝ้ายเพื่อนำไปขายต่ออย่างเป็นล่ำเป็นสันทีเดียว และเนื่องจาก
จังหวัดเลย เป็นจังหวัดเดียวของประเทศที่ปลูกฝ้ายมากเป็นอันดับ ๑ ในสมัยนั้น
 นายประพันธ์ พลอยพุ่ม ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเลยจึงได้ร่วมกับประชาชน
ชาวเลยจัดงาน "ดอกฝ้ายบานที่เมืองเลย" ขึ้นเพื่อเป็นการเผยแพร่ชื่อเสียงของ
จังหวัดเลยในด้านการปลูกฝ้าย และเพื่อประชาสัมพันธ์แหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ
ที่มีอยู่มากมาย เช่น ภูกระดึง ภูเรือ ภูหลวง ควบคู่กับการส่งเสริมเผยแพร่ศิลป
วัฒนธรรม ขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดโอกาสให้ประชาชนในชนบทที่ประกอบอาชีพเกษตรกร
ได้ท่องเที่ยวพักผ่อน รื่นเริงสนุกสนาน โดยในช่วงฤดูหนาวถือว่าเป็นช่วง
ระยะเวลาที่เหมาะสมกับการจัดงานมากที่สุด เพราะเป็นช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น
และฝ้ายกำลังออกดอกขาวบานสะพรั่งไปทั่วจังหวัด โดยเริ่มจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี
พ.ศ.๒๕๒๓ ในสมัยนายวิชิต ลักษณสมพงษ์ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัด ใช้ชื่องานว่า
 "ดอกฝ้ายบานที่เมืองเลย และงานกาชาดจังหวัดเลย"
งานมีขึ้นระหว่างวันที่ ๓๐ มกราคม ถึง ๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๓ ครั้งนั้นจัดขึ้นที่ด้านหลัง
ที่ว่าการอำเภอเมืองเลยเก่า ติดกับศาลาเทศบาลเมืองเลยใน "สวนสาธารณะกุดป่อง"
ที่ล้อมรอบด้วยน้ำกุดป่อง งานครั้งนั้นเพื่อส่งเสริมและประชาสัมพันธ์การปลูกฝ้ายในฐานะ
เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของจังหวัดเลย เพราะทำรายได้ให้จังหวัดเลยเป็นอันดับหนึ่ง
ต่อมาสภาพเศรษฐกิจและสังคมเปลี่ยนไป มีผ้าห่มใยสังเคราะห์เกิดขึ้น ราคาถูกกว่าผ้าห่มฝ้าย
การผลิตก็รวดเร็วกว่า ผู้คนจึงหันไปนิยมผ้าห่มใยสังเคราะห์มาก
กว่าผ้าห่มฝ้าย ฝ้ายซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับหนึ่งของจังหวัดเลย จึงขาดการเอาใจใส่ส่งเสริม เกษตรกรหันไปสนใจปลูกมะขามหวาน ข้าวโพด มะม่วงหิมพานต์
ยางพารา อ้อยและมันสำปะหลัง และมะขามหวานนี่เองที่ได้เข้ามามีบทบาทในทางเศรษฐกิจแทนฝ้าย
ในสมัยนายชีวิน สุทธิสุวรรณ เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดเลย
ได้มอบหมายให้คณะกรรมการในครั้งนั้นผลักดันให้นำชื่อมะขามหวานเข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง
ของชื่องาน จึงได้เปลี่ยนชื่องาน จากชื่อเดิมเป็น "งานกาชาดดอกฝ้ายบาน มะขาม
หวานเมืองเลย" ตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๑ มาจนถึงปัจจุบันโดยจัดต่อมาเป็นประจำทุกปี
 ที่สนามหน้าศาลากลางจังหวัดเลย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น